ผงชูรส … จริง หรือ หลอก บอกได้ไหม
ผงชูรสแท้โดยทั่วไปผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม จะไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภคผู้ใหญ่ทั่วไปที่ไม่ได้แพ้ผงชูรส และไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องงดเว้นโซเดียม แต่หากใส่ในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้อาหารมีรสแปลก ๆ แล้ว ยังอาจทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ซึ่งปริมาณแนะนำในการใช้ คือ ร้อยละ 0.1 – 1 ของน้ำหนักอาหาร เช่น อาหาร 500 กรัม ควรใส่ประมาณ 0.5 – 5 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา ก็ทำให้อาหารมีรสอูมามิ
อย่างไรก็ตามแม้ผงชูรสแท้จะมีราคาไม่แพงนัก แต่ก็ยังมีผู้ลักลอบผลิตและจำหน่ายผงชูรสปลอม ซึ่งมักจะมีการปลอมใน 2 ลักษณะ คือ
- ผงชูรสปลอมปน โดยจะใส่วัตถุดิบอื่นปนไปกับผงชูรส เช่น เกลือ น้ำตาล วิธีสังเกตให้ดูที่ผลึก ผงชูรสผลึกจะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาวปลายแหลม ผลึกเกลือจะเป็นสี่เหลี่ยม และผลึกน้ำตาลจะเป็นหกเหลี่ยม
- ผงชูรสปลอมฉลาก คือ ปลอมฉลากยี่ห้อว่าเป็นผงชูรสแท้ โดยส่วนผสมของผงชูรสปลอมอาจใช้สารเคมีอันตรายที่เป็นพิษต่อร่างกาย บางรายอาจใช้บอแรกซ์ (Borax: Sodium Tetraborat) หรือภาษาการค้าเรียกกันว่า น้ำประสานทอง หรือผงกรอบ ในภาษาจีนเรียกว่า เม่งแซ และบางรายอาจใช้โซเดียมเมตาฟอสเฟต (Sodium Metaphosphate) ที่ปกติใช้เป็นน้ำยาล้างหม้อน้ำรถยนต์ มาปลอมปนเป็นผงชูรสแท้ การปลอมในลักษณะนี้ถือเป็นอันตรายกับผู้บริโภคอย่างมาก
วิธีทดสอบผงชูรส
วิธีทดสอบผงชูรสปลอมทำได้ด้วยการเผาไฟ โดยนำผงชูรสใส่ช้อนแล้วเผาไฟ ถ้าเป็นผงชูรสแท้จะค่อย ๆ ละลายแล้วไหม้กลายเป็นสีดำ ไม่เหลือผลึกสีขาวที่อาจมาจากบอแรกซ์ หรือโซเดียมเมตาฟอสเฟต
หากต้องการทดสอบให้ละเอียดขึ้นว่า เป็นบอแรกซ์หรือไม่ สามารถใช้กระดาษขมิ้นทดสอบได้ โดยนำผงชูรสมาละลายน้ำ แล้วนำกระดาษขมิ้นมาจุ่มดู ถ้าเป็นผงชูรสแท้จะเป็นสีเหลืองเช่นเดิม ถ้าเป็นบอแรกซ์จะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง
หากต้องการทดสอบว่าเป็นโซเดียมเมตาฟอสเฟตหรือไม่ ให้ใช้ปูนขาวหรือแคลเซียมคาร์บอเนตผสมน้ำส้มสายชู ทิ้งให้ตกตะกอน แล้วนำส่วนน้ำใส มาผสมกับผงชูรสที่ละลายน้ำไว้ ถ้ามีตะกอนขาวเกิดขึ้นแสดงว่าเป็นโซเดียมเมตาฟอสเฟต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://fieldtrip.ipst.ac.th/#/content/59/detail/623